ขยะคอมเป็นพิษ รีไซเคิล..เป็นทอง

  คอมพิวเตอร์ยุคเทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ถึงโปรแกรมเครื่องจะล้าหลัง แต่ฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์ภายใน ก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์  ไม่เหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทตู้เย็น ทีวี…เจ๊งแล้ว ซ่อมไม่ได้แล้ว…ก็ต้องทิ้ง  ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ อาทิ…มอนิเตอร์หรือจอภาพ กว่าคุณภาพจะลดลงก็มีอายุใช้งานนานหลายปี…บางจออาจใช้ได้ 6-7 ปี   ซีพียู, การ์ดในเครื่อง…ตกรุ่น ความเร็วต่ำ ไม่ทันสมัย…ก็อัพเกรดเป็นรุ่นใหม่

      ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพลังงาน อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า คอมพิวเตอร์ที่กลายสภาพเป็นขยะเทคโนโลยี ต้องพูดกันเป็นรายชิ้น ถ้าจะถามว่าปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะคอมพิวเตอร์กี่มากน้อย  ถึงวันนี้…ยังไม่มีข้อมูล ตอบไม่ได้ว่าขยะคอมพิวเตอร์มีปริมาณเท่าใดกันแน่  แต่ถ้าเทียบปริมาณเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานในปี 2544 อยู่ที่ 8 แสนเครื่อง …อัตรา 58 ครัวเรือนต่อ 1 เครื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบเส้นกระโดดทุกปี

“ปลายปี 2546…ประเมินว่า อัตราการใช้คอมฯอยู่ที่ 6 ครัวเรือนต่อ 1 เครื่อง…มาถึงต้นปีนี้ มีผลจากโครงการ…คอมพิวเตอร์เอื้ออาทร…คอมฯโปรโมชั่นของบริษัท ห้างร้าน…ไม่เกินปีหน้า โดยเฉพาะครอบครัวคนเมืองจะมีคอมพิวเตอร์ 1 ครัวเรือน…ต่อ 1 เครื่อง…”

       เฉพาะปีนี้…น่าจะมีปริมาณเครื่องใช้งานอยู่ที่ 2-3 ล้านเครื่อง

“ผลที่ตามมา คอมพิวเตอร์ประมาณ 20%…จะกลายเป็นขยะ”

ปัจจัยส่งเสริมขยะคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์มือสองนำเข้า ปัจจุบันมักจะเป็นโน้ตบุ๊ก เครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว ดร.ขวัญฤดีบอกว่า ปัญหาขยะนำเข้าไม่น่าจะมีมาก  คอมฯในประเทศราคาถูกลงมาก ต่างประเทศมีเทคโนโลยีอะไร… เมืองไทยก็มีถึงจะนำเข้ามา…ก็ตกรุ่น…ไม่เป็นที่นิยม ทำงานช้าไม่ทันสมัย

   ปัญหาคอมพิวเตอร์นำเข้าจึงไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก จะมีบ้างก็เป็นอะไหล่ นำเข้ามาเป็นชิ้นๆ

ปัญหาขยะคอมพิวเตอร์ที่ต้องให้ความสนใจจึงต้องพุ่งเป้าไปที่… ชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์ตกรุ่นที่ใช้งานไม่ได้ จะมีความเป็นพิษสูง มีผลต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

           ในต่างประเทศมีเทคโนโลยีสูง…คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง นำมารีไซเคิลได้เต็ม 100%…หมายความว่า ซีพียู หลอดภาพ ลายวงจร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติกและโลหะ ถูกดึงกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด   องค์ประกอบหลักของเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง แยกตามประเภทวัสดุ ประกอบด้วย…แก้ว 24.9%, เหล็ก 24.5%, พลาสติก 22.8%, อะลูมิเนียม 14.2%, ทองแดง 7.0%, ตะกั่ว 6.3% และอื่นๆอีก 0.3%

โลหะในคอมพิวเตอร์…แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีโลหะหนักหลายตัวเป็นองค์ประกอบ ส่วนใหญ่มีมูลค่า แบ่งตามศักยภาพในการรีไซเคิลได้ 4 กลุ่ม

กลุ่มแรก…มีศักยภาพในการรีไซเคิลสูง รีไซเคิลได้มากกว่า 80%…อะลูมิเนียม เหล็ก ทองแดง นิกเกิล ทองคำและเงิน

กลุ่มถัดมา…มีศักยภาพในการรีไซเคิลปานกลาง รีไซเคิลได้ 50-80%…สังกะสี อินเดียม ซิลีเนียมและโรเดียม

กลุ่มที่ 3…มีศักยภาพในการรีไซเคิลต่ำ รีไซเคิลได้น้อยกว่า 50%…ตะกั่ว และพลาสติก

กลุ่มสุดท้าย…ไม่มีศักยภาพในการรีไซเคิล ได้แก่ เจอร์มาเนียม แกลเลียม แบเรียม แทนทาลัม วาเนเดียม แบริลเลียม ยูโรเปียม

 

   

ตัวอย่างการรีไซเคิลที่เพิ่มมูลค่าขยะคอมพิวเตอร์ ได้มากกว่านำไปทำลายทิ้ง หรือฝังกลบหลายเท่าตัว…นำหลอดภาพบดกับซีเมนต์ ทำหินขัด อิฐบล็อกปูพื้น ทำผนังกันรังสีเอกซเรย์ หรือเซลล์บอโรซิลิเกต สำหรับภาชนะบรรจุของเสียนิวเคลียร์

ดร.ขวัญฤดี บอกว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนแผงวงจรยิ่งมีค่า… นำมาสกัดเอาทองออกจากตะกั่ว ทองแดง โลหะ เทคโนโลยีนี้ประเทศไทยก็มี…มีโรงงานทำได้แต่ยังมีปัญหา…ขาดวัตถุดิบ

“เดิมทีคาดกันว่า…มีวัตถุดิบเหลือเฟือ ความจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่ปัญหา… วัตถุดิบที่มีมาก ยังกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ไม่ได้รวมกัน…ส่งมาป้อนให้โรงงาน”

ปัญหานี้…ต่างประเทศไม่มี ก็เพราะมีระบบการคัดแยกเป็นขั้นเป็นตอน อีกทั้งยังนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาเพื่อแยกในเชิงธุรกิจ เช่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย…ต่างประเทศรู้ดี…คอมพิวเตอร์ใช้วัตถุดิบเกรดเอทั้งสิ้น ไม่ว่า…พลาสติก อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ ลายวงจร หรือโลหะชนิดต่างๆ นำมารีไซเคิลได้มูลค่ามากกว่า

ประเทศไทยก็ใช่ว่าจะไม่มีการรีไซเคิล โรงงานรีไซเคิลพลาสติก โรงงานสกัดทองออกจากโลหะ ประเทศไทยก็มีแล้ว แต่ที่ไม่มีเลยคือ…โรงงานรีไซเคิลจอภาพ  เทคโนโลยีรีไซเคิลจอภาพต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสูง โรงงานที่ทำจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญจริงๆ…โรงงานประเภทนี้ รัฐจำเป็นต้องส่งเสริม  แม้ว่าระบบรีไซเคิลในไทยยังไม่ครบสมบูรณ์ทุกชิ้นส่วน แต่ประเทศไทยก็ยังมีร้านรับอัพเกรดคอมพิวเตอร์ ปัจจัยสำคัญในการคัดแยกชิ้นส่วนเสีย…ตกรุ่น ที่ต่างประเทศไม่มี อะไหล่หลุดจากร้านจะเป็นอะไหล่ที่ใช้ไม่ได้แล้วจริงๆ ชิ้นส่วนเหล่านี้เองที่ต้องมีแหล่งเก็บ…มีระบบรองรับ  อะไหล่ไปถึงร้านขายของเก่า ทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ก็จะกองทิ้งอยู่แค่นั้น…บางส่วนปนอยู่กับขยะ กทม. ขยะเขต เป็นปัญหากับสิ่งแวดล้อม

“ขยะคอมพิวเตอร์…โดนน้ำ แดด ฝน…ถ้าเป็นฝนกรดก็แย่ ฝนกรดกัดกร่อนแผงวงจร ซึมพิษสู่ดิน…เจอน้ำเป็นด่างก็ละลาย ทำปฏิกิริยากลายเป็นพิษ”

ว่าถึงพิษของขยะคอมพิวเตอร์อันตรายที่สุดถึงชีวิต สารฟอสฟอรัส…เคลือบผิวหน้าภายในหลอดรังสีแคโทด…จอภาพ แม้ไม่มีรายงานระบุชัดเจน แต่ในการทหารเรือเตือนว่า…สารนี้มีความเป็นพิษสูงมาก  อาจมีผลต่อผิวหนัง ระบบการย่อยอาหาร หากได้รับในปริมาณมากทำให้ถึงตายได้

***แบเรียม…เคลือบผิวด้านหน้าจอภาพ ป้องกันการแผ่รังสี ผลกระทบระยะสั้นทำให้สมองบวม กล้ามเนื้ออ่อนล้า ทำลายหัวใจ…ตับ…ม้าม

***ปรอท…ในสวิตช์ จอภาพแบบแบน ได้รับในปริมาณสูงจะส่งผลต่อสมอง ตับ ไต

***แคดเมียม…จากแผงวงจร แบตเตอรี่ จอภาพแบบเก่า สะสมในร่างกายมากๆจะทำให้เป็นโรคไต กระดูกผุกร่อน

***ตะกั่ว…จากหลอดรังสีแคโทด ปะเก็น โลหะบัดกรีบนแผงวงจร ทำลายระบบประสาทส่วนกลางและคู่ขนาน ระบบโลหิต ส่งผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก

พิษตะกั่วสะสมในบรรยากาศ อาจเกิดผลแบบเฉียบพลัน หรือเรื้อรังกับพืช สัตว์ และจุลชีพ

***แบริลเลียม…จากแผงวงจรหลัก เป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด ผู้ที่ได้รับสารนี้อย่างต่อเนื่องจากการสูดดม จะกลายเป็นโรค Beryllicosis ที่มีผลกับปอด…หากสัมผัสถูกผิวหนังโดยตรงจะเกิดแผลรุนแรง

สารทนไฟทำจากโบรมีน สาร Plybromited Diphenylethers (PBDE) มีผลต่อการพัฒนาสมองเด็ก และมีผลต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์

สุดท้าย…***พลาสติก องค์ประกอบในส่วนต่างๆของเครื่องคอมพิวเตอร์ หากนำไปเผาจะเกิดสารไดออกซิน ส่งผลต่อคุณภาพอากาศและมนุษย์…เมื่อสูดดมเข้าไป

การทำลายเป็นการกำจัดปัญหาที่รวดเร็ว หลายฝ่ายอาจมองว่ามีต้นทุนน้อย หากพิจารณาในระยะยาว…การทำลายมีต้นทุนสูงกว่า มีต้นทุนแฝงมากกว่า…ไม่ว่าค่ากำจัดทิ้งขยะลงหลุม…ฝังกลบ ค่าที่ดิน…ค่าขุดหลุม…

ระยะยาวหากระบบกั้นแตก มลพิษรั่วออกไปนอกพื้นที่ฝังกลบ ระบบนิเวศน์ ก็จะมีปัญหา…เกิดผลเสียหายได้มากกว่า

การนำคอมพิวเตอร์มารีไซเคิลจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ดร.ขวัญฤดี แนะนำว่า ถึงเทคโนโลยีของไทยจะรีไซเคิลไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ควรให้เหลือส่งกำจัด…ทำลาย… ให้น้อยที่สุด

“ขยะคอมพิวเตอร์เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ฝังกลบต้นทุนมีแต่เพิ่ม… ขณะที่การรีไซเคิลมีแต่เพิ่มมูลค่า นำขยะมาแปรรูปเป็นของที่มีมูลค่ามากกว่า และลดการใช้ทรัพยากรให้น้อยลง

cc:http://www.com4child.org/autopagev4/show_page.php?topic_id=174&auto_id=15&TopicPk=

ใส่ความเห็น