โครงการคืนชีพให้กระดาษ

     โครงการขบวนการกระดาษหน้าเดียว ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ร่วมกับ Mor Mor Creative Forum ขอเชิญชมนิทรรศการ Paper Ranger ตอน “กระดาษจอมป่วน” วันที่ 20 กันยายน-12 ตุลาคม 2550 ที่อินดัสเทรียล ดีไซน์ แกลเลอรี ภาควิชาการออกแบบอุตสากรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อยู่นอกรั้วจุฬาฯ ติดป้ายรถเมล์หน้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา)

ในวันเปิดนิทรรศการ 20 ก.ย.นี้ เวลา 17.30 น. ผศ.โสมภาณี ศรีสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาฯ จะเป็นประธานเปิดงาน เชิญผู้สนใจพบกับ “ฮีโร่ พิทักษ์กระดาษ” เรื่องราวของกระดาษจอมป่วน ชีวิตภาคต่อของต้นยูคาลิปตัส วิกฤตการณ์กระดาษในปัจจุบัน ผลงานการประกวดจากโครงการออกแบบเปเปอร์เรนเจอร์ : จากไอเดียนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แปรสภาพกระดาษใช้แล้วเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายในงานยังมีสมุดจากขบวนการหน้าเดียว จัดจำหน่ายราคาถูก รายได้สนับสนุนโครงการขบวนการกระดาษหน้าเดียว (Paper Ranger)
ก่อนหน้านี้ ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชักชวนนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และผู้ที่สนใจร่วมฟังแลกเปลี่ยนความรู้และไอเดียใหม่ๆ เกี่ยวกับโลกร้อน การออกแบบ และทรัพยากรโลก
ฐิตินันท์ ศรีสถิต ผู้เขียนหนังสือ “โลกร้อน ทุกสิ่งที่เราทำ เปลี่ยนแปลงโลกเสมอ” มูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า กระดาษที่รีไซเคิลได้ต้องสะอาด ไม่เปื้อนน้ำมัน เป็นกระดาษแผ่นใหญ่ ไม่ถูกฉีกหรือเยื่อกระดาษขาด กระดาษที่ผสมพลาสติกหรือเคลือบมันจะรีไซเคิลไม่ได้ สำหรับงานสื่อสารมวลชนด้านนิตยสารเป็นกระบวนการที่ใช้กระดาษเยอะ ตั้งแต่ต้นฉบับ ปรู๊ฟตรวจตัวหนังสือ นิตยสาร 1 เล่ม ใช้กระดาษ 3-4 เท่าจากที่เราเห็น และยังมีกระดาษที่ใช้ในงานสำนักงานอื่นๆ อีก จึงพยายามแยกกระดาษแต่ละชนิดที่ใช้ได้ นี่สำหรับใช้สองหน้า อันนี้สำหรับแปะข่าวหรืออื่นๆ ในบางประเทศใช้วิธีอัดกระดาษหนาๆ เอาม้วนกระดาษเป็นรอบแกนดินสอ เป็นต้น ตัวอย่างชุมชนรีไซเคิลที่เราเคยเห็น คือโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งจัดการเรื่องขยะได้ดีมาก
ชัยพร อินทุวิศาลกุล หรือพี่จ๊อก เจ้าของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ ผู้อยู่เบื้องหลังสมุด Paper Ranger กล่าวว่า ในเชิงการรีไซเคิลของโรงพิมพ์ เราทำได้อยู่แล้วด้วยการวางแผนก่อนนำไปใช้งาน พวกกระดาษสำหรับพิมพ์ กระดาษปรู๊ฟ ตอนนี้มีความคิดเพิ่มว่าจะใช้กระดาษห่อกระดาษมาทำอะไรต่อ เพราะมันเป็นกระดาษดีมีคุณสมบัติกันความชื้น ทนทาน
คนออกแบบช่วยโรงพิมพ์ประหยัดได้หลายทาง คือ ออกแบบสิ่งพิมพ์ให้สามารถนำไปรีไซเคิลต่อไปได้ เช่น ไม่ควรใช้สีสะท้อนแสง ไม่ใช้ฟอยล์ ไม่เคลือบมัน เพราะทำให้นำไปเข้ากระบวนการผลิตกระดาษรีไซเคิลไม่ได้ เวลาออกแบบพยายามเลือกขนาดของหนังสือที่ไม่ใหญ่ผิดปกติ เพราะมันจะเสียเศษเยอะ ออกแบบการจัดหน้าให้ประหยัดขอบกระดาษ ปกติหน้าเปิดเป็นขวา ก็เปลี่ยนเป็นหน้าซ้าย ประหยัดความหนากระดาษ หรือเลือกใช้สีหมึกธรรมชาติ แต่ปัญหาคือในระบบเศรษฐกิจทุกวันนี้ต้องการความโดดเด่น ฉีกแนว ต้องการความหรูหรา ความสวยงาม มากกว่าคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม
ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของบริษัท osisu (www.osisu.com) กล่าวว่า คนอาจมองว่าสถาปนิกเป็นผู้สร้าง แต่จริงๆ เราก็เป็นนักทำลายด้วย มองง่ายๆ อย่างห้องนี้ เราใช้แอร์อย่างน้อย 3 เครื่องใหญ่ๆ ไฟ ตัวตึก แต่ในฐานะนักวิจัยต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้มีสิ่งที่ทิ้งน้อยลง ต้องมีทางออก นักออกแบบทำอะไรได้ อย่างบริษัท osisu เริ่มนำเศษของจากสิ่งก่อสร้าง โรงงานต่างๆ มาออกแบบโดยเน้นการออกแบบที่สวยงาม เช่น เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ของใช้ ถุง สมุด กระเป๋า แม้แต่เศษกระดาษฝอยจากกระดาษสำนักงานก็นำเอามาใส่ถุงเพื่อรักษารูปร่างของงานออกแบบ

cc:http://women.thaiza.com/detail_60647.html

ใส่ความเห็น