แก้ว อมตะแห่งความใส

    เชื่อหรือไม่ว่าคนไทยใช้ขวดแก้วปีละไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านตันต่อปี และกว่า 70 % มักจะมาจากบรรจุภัณฑ์ประเภทน้ำเมาภายใต้ขวดสีชา ก่อนจะลดหลั่งลงมาเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดสีขาว  

           ซึ่งถ้านำตัวเลขข้างต้นมาคำนวณเฉลี่ยการใช้ขวดแก้วต่อวันแล้ว นับว่าสูงมากและจะสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการที่จะนำขวดแก้วมารองรับความต้องการให้เพียงพอในแต่ละวันนั้น กระบวนการรีไซเคิล จึงเป็นความหวังเดียวเท่านั้น ซึ่งจากปริมาณที่กล่าวอ้างข้างต้นอาจจะไม่เป็นจริงได้ ถ้าไม่ได้มายืนอยู่บนภูเขาของซากขวดแก้วนับแสนนับล้านใบ ที่อยู่ในอาณาจักรรับซื้อของเก่า ภายใต้บริษัท ทวีทรัพย์ หนึ่งในแหล่งรับซื้อของเก่าที่ใหญ่ระดับภูมิภาค โดยมีลูกข่ายประมาณ 40 จังหวัดทั่วประเทศ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันนำขวดแก้วที่ใช้แล้วมาส่งให้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนตันต่อวัน โดยขวดแก้วที่เข้ามาที่นี่สามารถแบ่งได้ 3 ประเภทคือขวดสีชา(ขวดเบียร์) ขวดสีขาวและขวดสีเขียว ซึ่งที่นี่อาจจะเป็นปลายทางของขวดตามความเข้าใจของคนทั่วไป แต่สำหรับการรีไซเคิล ที่นี่เปรียบเสมือนต้นทางของการแจ้งเกิดอีกครั้ง โดยเริ่มจากการแยกสีของขวดแก้ว หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการบดขวดแก้วให้แตกละเอียด พร้อมกับต้องทำการคัดแยกสิ่งแปลกปลอมที่ติดมากับขวดแก้วออกให้หมด เหลือไว้เพียงเศษแก้วที่บริสุทธิ์เท่านั้น ซึ่งเศษแก้วที่ได้เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นวัตถุดิบหลักในการที่จะทำให้ขวดแก้วฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีกครั้ง ซึ่งการจะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งภายในประเทศก็มีอยู่เพียง 3 แห่งเท่านั้นและหนึ่งในนั้นก็คือ บริษัท บางกอกกลาส บริษัทซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตขวดแก้วไม่ต่ำกว่า 4 ล้านขวดต่อวัน ซึ่งกว่า 60 % ก็จะได้จากเศษแก้วที่ผ่านการบดละเอียดแล้ว และที่เหลือก็คือวัตถุดิบต่างๆ 5 ตัวด้วยกัน ซึ่งเมื่อผ่านการผสมวัตถุดิบต่างๆเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะถูกส่งเข้าสู่เตาหลอมที่อุณหภูมิ 1600 องศาเซลเซียส เพื่อให้ได้น้ำแก้วที่เหมาะจะทำการขึ้นรูปเป็นขวดแก้ว เพื่อ ที่จะทำให้ขวดแก้วใบนั้นฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ก่อนจะถูกส่งต่อให้กับผู้บริโภคใช้ต่อไป แต่ถ้าถามหาแก้วในเชิงงานศิลปะ แก้วคริสตัล น่าจะเป็นหนึ่งในงานฝีมือที่ถือได้ว่าแตกต่างจากงานสร้างสรรค์ในเชิงอุตสาหกรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการขึ้นรูปด้วยคน ที่จะต้องใช้ปากในการเป่าลมผ่านท่อเหล็กขนาดยาว เพื่อบังคับให้น้ำแก้วที่มีความร้อนสูงที่อยู่ตรงปลายท่ออีกข้างหนึ่ง เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการ อบ เจียระไน เพื่อสร้างสรรค์ความสวยงามบนตัวแก้ว และสามารถสร้างมูลค่าให้กับตัวแก้วได้อย่างมหาศาล ถึงแม้โดยภาพรวมของแก้วทั้งสองประเภทจะมีความแตกต่างกันมาก แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ การรู้จักที่จะใช้ทรัพยากรจากสิ่งที่มีอยู่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ โดยเฉพาะ แก้ว ที่พูดได้ว่านำกลับมาใช้ได้ใหม่อย่างไม่วันสิ้นสุด  

 
 
 

 

ใส่ความเห็น